รีวิว Mazda RX-7

โฉมหน้าของสปอร์ตขุมพลังโรตารี่รุ่นแรก

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นหลายค่ายมีข่าวว่ากำลังจะปัดฝุ่นนำรถสปอร์ตชื่อดังของตัวเองกลับมาขายอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า NSX หรือซูปราสำหรับฝั่งของโตโยต้า ส่วนทางด้านมาสด้าก็มีข่าวในลักษณะนี้เช่นกัน และรถยนต์ที่พัวพันเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นสปอร์ตชื่อดังอย่าง RX-7

จริงอยู่ที่ RX-7 ไม่ได้เป็นรถสปอร์ตรุ่นแรกของมาสด้าที่สวมหัวใจลูกสูบสามเหลี่ยมหมุนอย่างโรตารี่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าชื่อนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้มาสด้ากับคำว่าโรตารี่แทบจะเป็นคำๆ เดียวกัน เพราะเป็นรถสปอร์ตที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แม้ว่าอายุในตลาดจะสั้นเพียงแค่ 3 เจนเนอเรชั่นเท่านั้นเองในระหว่างปี 1978-2002

มาสด้า RX-7 ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะตัวแทนของมาสด้า RX-3 ที่โด่งดังมากในยุคต้นทศวรรษที่ 1970 โดยรุ่นแรกของ RX-7 ถูกเปิดตัวออกมาในปี 1978 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของมาสด้าอย่างแท้จริง เพราะมาสด้ากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงของกิจการ เนื่องจากบริบทของตลาดรถยนต์ทั่วโลกในยุคนั้นยังอยู่ในช่วงวิกฤตน้ำมัน หรือ Oil Crisis แถมตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่อีกแห่งของมาสด้า ก็มีความเข้มงวดในเรื่องของระดับมลพิษในไอเสีย ทำให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ของมาสด้าหลายรุ่นประสบปัญหาในด้านยอดขาย และส่งผลต่อเนื่องมายังกิจการของบริษัท

อย่างไรก็ตาม สำหรับ RX-7 กลับกลายเป็นเรื่องที่สวนทางกัน สปอร์ตรุ่นนี้เปิดตัวสายพันธุ์แรกในรหัส SA /FB พร้อมกับได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะรูปลักษณ์ที่ดูสวยสะดุดตาและสมรรถนะเร้าใจ เพราะน้ำหนักตัวที่เบาในระดับ 1 ตันนิดๆ บวกกับเครื่องยนต์รอบจัดอย่างโรตารี่ ทำให้การตอบสนองในการขับเคลื่อนถือว่ายอดเยี่ยมมาก แม้ว่าในรุ่นแรกจะใช้เครื่องยนต์บล็อกเดิมแบบ 12A ที่มีความจุ 1100 ซีซี แต่มีกำลังถึง 100 แรงม้า ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรหัส 13B ที่มีความจุ 1300 ซีซีแบบหัวฉีด 135 แรงม้า

ส่วนในด้านความประหยัดน้ำมัน แม้ว่าจะดีกว่าเครื่องยนต์โรตารี่ยุคเดิม แต่ตัวเลขก็ยังไม่ถึงกับน่าประทับใจแบบสุดๆ ด้วยตัวเลขการทดสอบการขับคงที่บนไฮเวย์ในระดับ 10 กิโลเมตร/ลิตร

ว่ากันว่าเจนเนอเรชันแรกของมาสด้า RX-7 มียอดขายมากกว่า 474,000 คัน แต่กว่า 377,800 คัน ถูกขายในตลาดสหรัฐอเมริกาพร้อมการยอมรับในด้านต่างๆ ทั้งการถูกเลือกโดยนิตยสาร Sports Car International ให้อยู่อันดับ 7 ของรถสปอร์ตชั้นเยี่ยมแห่งยุค 1970 และการติดตั้งอยู่ใน 10 รถยนต์ที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปี

เริ่มมีทางเลือกของตัวถังเพิ่มมากขึ้นในรุ่นที่ 2 ในเจนเนอเรชันที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อ FC มาสด้าเพิ่มทางเลือกให้กับตัวถังในการทำตลาดด้วยรุ่นเปิดประทุน นอกเหนือจากความสวยในแบบคูเป้หลังคาแข็ง โดย RX-7 รุ่นนี้รู้จักในอีกชื่อว่า Savanna RX-7 และมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูคล้ายกับรูปโฉมของปอร์เช่ 924 และ 944

แม้ในเรื่องน้ำหนักตัวจะเพิ่มจากรุ่นแรกประมาณ 36 กิโลกรัม แต่ในแง่ของสมรรถนะก็ไม่ได้เป็นรอง เพราะถูกทดแทนด้วยความเร้าใจของเครื่องยนต์โรตารี่ที่ทันสมัยขึ้น และมีให้เลือกทั้งหายใจเองและเทอร์โบ โดยเป็นแบบ 2 โรเตอร์ 1300 ซีซี ในตระกูล 13B ที่มีกำลังขับเคลื่อนระหว่าง 142-202 แรงม้า

แม้ว่าจะมีความทันสมัยมากขึ้น แต่ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าน้อยกว่าสายพันธุ์แรก เพราะตลอดอายุการทำตลาดจนถึงปี 1992 กวาดยอดขายทั่วโลกเพียง 272,027 คัน หรือน้อยกว่ารุ่นแรกเกือบเท่าตัว และตลาดที่ฮ็อตสำหรับ RX-7 ก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกาเช่นเคย โดยในปี 1986 เพียงปีเดียว สามารถขายได้มากถึง 86,000 คัน

เมื่อเข้าสู่ปี 1992 ก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง และเจนเนอเรชันที่ 3 ของ RX-7 เผยโฉมออกมาพร้อมกับรหัส FD และ ความสวยสปอร์ตที่พลิกโฉมจากทั้ง 2 เจนเนอเรชัน โดย RX-7 รุ่นนี้มีการขยับความเร้าใจในการขับขี่ด้วยเครื่องยนต์โรตารี่แบบใหม่ที่มี ความสมัยและแรงขึ้นด้วยกำลังในระดับมากกว่า 200 แรงม้า

ขุมพลังโรตารี่แบบ 13B-REW ของ RX-7 รุ่นที่ 3 มาพร้อมกับเทอร์โบคู่ในแบบ Sequential และสตาร์ทกับปริมาณม้าในคอกถึง 255 ตัว ตามด้วย 265 ตัว และไปสิ้นสุดถึง 280 ตัวในรุ่นท็อป ซึ่งสเปก JDM ที่ขายในญี่ปุ่นความจริงควรจะมีมากกว่านี้ แต่ข้อกำหนดของรถยนต์ญี่ปุ่นในช่วงนั้นกำหนดให้บังคับกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์จากโรงงานไม่เกิน 280 แรงม้า และความเร็วสูงสุดทั้งจากตัวเครื่องยนต์และบนเรือนไมล์ไม่เกิน 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ว่ารถยนต์คันนั้นจะสามารถเบ่งกล้ามได้มากกว่า หรือทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่านี้ก็ตาม

ในแง่ของยอดขาย RX-7 รุ่นนี้อาจจะทำตัวเลขได้น้อยกว่า ด้วยยอดขายที่ไม่ถึง 70,000 คัน แต่ก็เป็น RX-7 ที่มีการผลิตรุ่นย่อยเยอะมาก โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็น JDM สำหรับลูกค้าที่นี่โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Type RB, Type RS, Type RZ หรือ A-Spec ฯลฯ

โฉมหน้าสุดท้ายของ มาสด้า RX-7 รุ่นที่ 3 RX-7 รุ่นนี้ถือเป็นสายพันธุ์สุดท้ายของสปอร์ตขุมพลังโรตารี่ เพราะขณะที่ตลาดรถสปอร์ตญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง บวกกับมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดขึ้นเช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่เริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มาสด้าไม่ต่อยอดในการทำตลาดให้กับ RX-7 ต่อไป และเลิกการผลิตในปี 2002 แต่ก็ยังไม่เลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่

เพราะหลังสิ้นสุด RX-7 มาสด้าก็มี RX-8 สปอร์ต 4 ประตูเปิดในแบบตู้กับข้าวออกมาขาย พร้อมกับเครื่องยนต์โรตารี่แบบ RENESIS ที่มีความทันสมัย และตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคปัจจุบันได้ดีกว่า เข้ามาทำตลาดแทนที่

 

ขอขอบคุณข้อมูล  http://www.manager.co.th

ใส่ความเห็น